ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 บุคลากรทางการแพทย์ถือเป็นกลุ่มคนด่านหน้าที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากต้องคลุกคลีกับผู้ติดเชื้อทุกวันต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ซึ่งเชื้อโควิด-19 สามารถล่องลอยอยู่ในอากาศได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แถมอยู่บนพื้นผิวต่างๆ ได้นานหลายชั่วโมงถึงนานนับวัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม ดังนั้น การฆ่าเชื้อสถานที่ปฏิบัติงานสำหรับบุคลากรด่านหน้าจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

คณะแพทยศาสตร์ และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ห่วงใยในเรื่องนี้ จึงได้ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และSmile Roboticss พัฒนา Robocovid UV-C หรือ “น้องไฟฉาย” ฆ่าเชื้อโรคและสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้บุคลากรทางการแพทย์ โดยตั้งแต่การระบาดระลอกแรก คณะนวัตกรรมได้พัฒนาหุ่นยนต์มาแล้ว 2 รุ่น จนล่าสุด เผยโฉม “น้องไฟฉายรุ่น 3” การันตีประสิทธิภาพฆ่าเชื้อโรคได้เร็วและเข้มข้นกว่าเดิม

“น้องไฟฉาย รุ่น 3” ฆ่าเชื้อโรคเข้มข้น รวดเร็ว ทุกทิศทาง
ไวรัสโควิด-19 เป็นเชื้อไวรัสที่ถูกฆ่าทำลายได้ง่ายอยู่แล้ว การทดสอบของทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ผลสอดคล้องกับการทดสอบของทางคณะแพทย์และงานวิจัยในต่างประเทศ ที่พบว่าโดสความเข้มข้นของรังสีที่ใช้กับน้องไฟฉายสองรุ่นแรกสามารถฆ่าเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ 99.99 – 99.999 % ขึ้นไป

แต่น้องไฟฉายรุ่นที่ 3 ทำได้เหนือกว่านั้น คณะผู้พัฒนาได้ปรับปรุงและพัฒนาน้องไฟฉายรุ่นที่ 3 ให้มีประสิทธิภาพในการกระจายรังสี UV-C ได้เข้มข้นขึ้น ในทุกทิศทุกทาง ช่วยร่นระยะเวลาในการฆ่าเชื้อลงเหลือเพียงจุดละ 3 นาที อีกทั้งมีขนาดเล็กกะทัดรัด สะดวกในการใช้งาน เคลื่อนย้ายและการจัดเก็บ เมื่อเทียบกับทั้ง 2 รุ่นที่ผ่านมา นอกจากนี้ น้องไฟฉาย 3 สามารถควบคุมการทำงานด้วยระบบ Internet of Things (IoT) หรือผ่านเครือข่าย 4G ทาง Smart Phone ทั้งระบบ  Android และ IOS

“ในการตรวจสอบประสิทธิภาพการกำจัดเชื้อที่ระยะทางต่างๆ ทั้งที่ระดับพื้นดิน ระดับ 50 เซนติเมตรเหนือพื้น บนพื้นผิววัสดุต่างๆ ทั้งแก้ว พลาสติก โลหะ มีการนำเชื้อโรคอื่นๆ ที่ถูกกำจัดหรือฆ่าได้ยากกว่าไวรัสโควิด-19 หลายเท่า มาใช้ทดสอบเป็นคู่เทียบ (surrogate) ก็พบว่าหุ่นยนต์น้องไฟฉายสามารถฆ่าเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลตอบรับจากโรงพยาบาลอื่นๆ ที่ได้นำไปใช้ก็อยู่ในระดับที่ยอดเยี่ยม” ศ.นพ. สมรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมถึงการตรวจสอบประสิทธิภาพหุ่นยนต์ไฟฉาย รุ่น 3 โดยภาควิชาวิสัญญีวิทยา ร่วมกับหน่วยแบคทีเรียวิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ



น้องไฟฉายทุกรุ่นออกปฏิบัติการแล้ว พร้อมศึกษาพัฒนารุ่นต่อไป
ปัจจุบัน “น้องไฟฉาย 3” ได้ให้บริการฆ่าเชื้อทำความสะอาดแล้วในหลายโรงพยาบาลทั่วประเทศ เช่น ในห้องทำคลอดของแผนกสูตินารีเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และมีแผนขยายและส่งมอบน้องไฟฉายให้โรงพยาบาลอื่นๆ ที่สนใจด้วย

ดร.เจนยุกต์ กล่าวทิ้งท้ายถึงอนาคตของ “น้องไฟฉาย” รุ่นต่อไปว่า “ชนิดหลอด UV-C ที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันอาจมีการปล่อยก๊าซโอโซนออกมา ซึ่งถึงแม้โอโซนจะสามารถช่วยฆ่าเชื้อและสลายไปได้เอง แต่ก็ข้อกังวลเรื่องการตกค้างของโอโซนที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นผิวอุปกรณ์ได้ ดังนั้น เราจึงกำลังศึกษามองหาหลอดประเภทอื่นที่มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานที่ดีที่สุด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แม้ว่าตัวที่เราใช้อยู่ก็มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากในระดับหนึ่งอยู่แล้วก็ตาม”

ผู้สนใจสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา หรือต้องการหุ่นยนต์ “น้องไฟฉาย” ไปใช้ในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม สามารถติดต่อหรือสอบถามที่ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทรศัพท์ 0-2256-4000 ต่อ 81513